กันไว้ดีกว่าแก้! วิธีการใช้ ยาสามัญประจำบ้าน ให้ปลอดภัยง่ายนิดเดียว

หลายคนคิดว่าเมื่อป่วยเล็กๆ น้อยๆ แล้วใช้ ยาสามัญประจำบ้าน แบบกินๆ ทาๆ ง่ายๆ ก็จะหาย จบ! ทั้งที่ความจริงแล้วการใช้ยาสามัญประจำบ้าน มีรายละเอียดและวิธีการที่ถูกต้องปลอดภัยมากกว่านั้น ที่งานนี้รู้ไว้ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน
“ยาสามัญประจำบ้าน” คืออะไร?
ยาสามัญประจำบ้าน คือ ชุดยาที่ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บต่างๆ ในเบื้องต้น ที่ไม่ว่าบ้านไหนๆ ก็ควรมีเอาไว้

วิธีใช้ยาสามัญประจำบ้านให้ปลอดภัย
ใช้ให้ถูกกับโรค คือ การใช้ยาสามัญประจำบ้านให้เหมาะสมกับอาการหรือโรคที่เป็นอยู่ ที่ต้องทำอันดับแรกก็คือการศึกษาอาการต่างๆ ที่เป็นว่าเข้าข่ายโรคใด จะได้ใช้ยาให้ถูกกับโรคนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น มีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวผิดปกติหลายครั้ง เข้าข่าย “โรคท้องเสีย”
ใช้ให้ถูกกับบุคคล คือ ความแตกต่างกันในเรื่องของเพศและวัย มีการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกันออกไป เช่น ยาบางชนิดระบุให้ใช้กับเพศหรือวัยใดวัยหนึ่งเท่านั้น หากนำไปใช้ผิดบุคคลก็อาจเกิดอันตรายได้
ใช้ให้ถูกขนาด คือ มีการระบุให้ใช้ยาในปริมาณหรือระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย หากใช้ในปริมาณมากหรือนานเกินไปก็อาจเป็นอันตรายได้
ใช้ให้ถูกเวลา คือ การใช้ยาให้ถูกกับเวลาที่ระบุเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น
– “ยาก่อนอาหาร” ควรกินยาตอนท้องว่าง ก่อนการกินอาหารครึ่งถึง 1 ชั่วโมง เพื่อที่ยาจะได้ดูดซึมได้ดี
– “ยาหลังอาหาร” ควรกินยาตอนท้องมีอาหารอยู่ ซึ่งอาจกินยาหลังอาหารทันที หรือหลังจากกินอาหารแล้ว 1 – 2 ชั่วโมงก็ได้
อ่านก่อนใช้ คือ การอ่านฉลากยาทุกครั้งก่อนการใช้ เพื่อจะได้รู้ว่าควรใช้ยาอย่างไร ขนาดไหน และมีข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างไรด้วย

รายการยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมีติดบ้านเอาไว้
– ยาแก้ปวด ลดไข้ (เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน)
– ยาแก้ปวดท้อง (แก้ท้องเสีย ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เช่น ยาธาตุน้ำแดง ผงน้ำตาลเกลือแร่)
– ยาแก้ไอ ขับเสมหะ (เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ)
– ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก
– ยาสำหรับโรคปากและลำคอ (เช่น ยาอมแก้เจ็บคอ ยากวาดคอ)
– ยาแก้อาการเมารถ เมาเรือ
– ยาระบาย
– ยารักษาโรคตา (เช่น ยาหยอดตา)
– ยาใส่แผลและล้างแผล (เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน)
– ยาสำหรับโรคผิวหนัง (เช่น ยารักษาหิด เหา โลน)
– ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และแมลงสัตว์กัดต่อย (เช่น ยาหม่อง)
– ยาดม หรือยาทาแก้อาการคัดจมูก วิงเวียน หน้ามืด
ถ้าหากคุณอยากสุขภาพดี อย่าลืมติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ เช่น รู้เท่าทัน! สุขภาพเล็บ สิ่งเล็กๆที่ช่วยบ่งบอกโรคที่ไม่ควรมองข้าม ได้อีกที่ worldcongressacg2017.org